มาวิเคราะห์สภาพตลาดการลงทุนกัน

มาวิเคราะห์สภาพตลาดการลงทุนกัน
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

โพลล์สำรวจความเห็นนักวิเคราะห์ จากสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ สำหรับการลงทุนในช่วงปลายเมษายน - ธันวาคม 2550 โดยนายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมฯ เปิดเผยผลสรุปความเห็นของนักวิเคราะห์ล่าสุด เทียบกับผลสำรวจครั้งก่อนเมื่อ 5 กพ. 2550 พบว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนเติบโตดีขึ้น โดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ในขณะที่ตัวเลขคาดการณ์ทางเศรษฐกิจลดลงเล็กน้อย โดย GDP Growth เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 4  นักวิเคราะห์ยังคาดการณ์ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ เฉลี่ย ณ ปลายปี 2550 ไว้ที่ 731 จุด กลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะมีผลประกอบการเติบโตสูงที่สุดและน่าลงทุนคือ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และธนาคาร รวมทั้งเชื่อว่านักลงทุนต่างชาติจะยังคงเป็นผู้ซื้อสุทธิต่อเนื่อง

สมาคมนักวิเคราะห์ฯ ได้สำรวจความเห็นนักวิเคราะห์เกี่ยวกับแนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงปลายเมษายน - ธันวาคม 2550 รวมถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการลงทุนในตลาดหุ้นทั้งปัจจัยบวกและ ปัจจัยลบ ความเชื่อมั่นในการบริหารงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันและข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาล แนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจและผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน คาดการณ์ EPS Growth ของกลุ่มธุรกิจสำคัญ กลุ่มธุรกิจและหุ้นที่แนะนำให้ลงทุน รวมถึงความคิดเห็นว่านักลงทุนต่างชาติจะซื้อสุทธิหรือไม่ และคำแนะนำให้นักลงทุน โดยมีสำนักวิจัยจากบริษัทหลักทรัพย์แสดงความเห็นรวม 22 แห่ง

ปัจจัยบวกที่สำคัญต่อการลงทุนในตลาดหุ้นช่วงปลายเมษายน  – ธันวาคม 2550 :

  • อันดับแรกที่นักวิเคราะห์ร้อยละ 91 เห็นตรงกัน คือ การที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง
  • อันดับที่สองได้คะแนนเท่ากันสองอันดับ ร้อยละ 64  คือ สถานการณ์ทางการเมือง ที่คลี่คลาย มีกำหนดการเลือกตั้งชัดเจนหรือเป็นไปตามกำหนดเดิม และ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงโครงการ เมกะโปรเจ็กต์ มาตรการด้านภาษี และการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ

ปัจจัยลบที่สำคัญ :

    • อันดับแรกโดยนักวิเคราะห์ทั้งหมดที่ตอบแบบสอบถามมีความเห็นตรงกัน คือ ปัจจัยทางการเมือง ซึ่งรวมถึง ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ผู้ประกอบการและผู้ลงทุน การชุมนุมของกลุ่มต่าง ๆ และความล่าช้าของการเลือกตั้ง
    • อันดับสองมีผู้ตอบร้อยละ 59 คือ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ที่ชะลอตัวลงจากตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจและคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ลดลง รวมถึงการชะลอตัวของการลงทุน
    • อันดับที่สามมีผู้ตอบร้อยละ 32  คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ภาคส่งออกชะลอตัว
    • อันดับที่สี่มีสองประเด็น คือ สถานการณ์ความไม่สงบภาคใต้และการก่อการร้ายต่าง ๆ  และ การแข็งค่าของเงินบาท มีผู้ตอบร้อยละ 23 เท่ากัน

เกี่ยวกับความเชื่อมั่นของนักวิเคราะห์ในการบริหารงานของรัฐบาลปัจจุบัน จากการสำรวจพบว่า ในด้านเศรษฐกิจนั้น นักวิเคราะห์ร้อยละ 48 มีความเชื่อมั่นเล็กน้อย ร้อยละ 43 มีความเชื่อมั่นปานกลาง และมีร้อยละ 10 ที่ไม่มีความเชื่อมั่น ส่วนในด้านสังคมและการเมือง นักวิเคราะห์ร้อยละ 53 เชื่อมั่นเล็กน้อย ในขณะที่ผู้ที่เชื่อมั่นปานกลาง และไม่มีความเชื่อมั่น มีจำนวนเท่ากันที่ร้อยละ 24

ทั้งนี้ นโยบายสำคัญที่นักวิเคราะห์มีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐดำเนินการ อันดับแรกที่นักวิเคราะห์เห็นตรงกันถึงร้อยละ 81 คือ มาตรการด้านเศรษฐกิจ โดยแนะให้เร่งการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเร่งดำเนิน โครงการขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า แอร์พอร์ตลิงก์ เป็นต้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคและนักลงทุน โดยอาจลดภาษีภาคธุรกิจ รวมทั้งมาตรการลดดอกเบี้ย อันดับที่สอง มีผู้ตอบร้อยละ 24 คือ ด้านการเมือง โดยแนะรัฐให้เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และดำเนินการให้มีการเลือกตั้งได้ตามกำหนด

จากผลสำรวจประมาณการตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจสำหรับปี 2550  สมาคมนักวิเคราะห์ฯ พบว่า นักวิเคราะห์มีการปรับประมาณการตัวเลขต่าง ๆ เล็กน้อยจากผลสำรวจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือ GDP Growth เฉลี่ยของปีนี้ลดลงเล็กน้อยเป็น 4.0% เทียบกับการสำรวจครั้งก่อนที่ 4.2% ในขณะที่ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน หรือ EPS Growth เฉลี่ยมีการปรับ ขึ้นจากเดิม 2.6% เป็น 3.2%

สำหรับตัวเลขสำคัญ ณ สิ้นปี นักวิเคราะห์คาดว่า ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้เดิม โดยอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและดอลลาร์สรอ. ณ สิ้นปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 35.2 บาท แข็งขึ้นเล็กน้อยจากเดิม ที่คาดไว้ 35.7 บาท   สำหรับอัตราดอกเบี้ย RP 1 วัน ในปลายปีนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5% ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ หรือ SET Index สิ้นปีนี้เฉลี่ยคาดว่าใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้เดิม คือ อยู่ที่ 731 จุด จากเดิม 729 จุด โดยมีสำนักวิจัยที่พยากรณ์ดัชนีสิ้นปีสูงสุดที่ 770 จุดและสำนักวิจัยที่คาดการณ์ดัชนีวันสิ้นปีไว้ต่ำที่สุดที่ 700 จุด

ในส่วนของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ ประเมินจากอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ของกลุ่มธุรกิจสำคัญ จากผลที่ได้จากแบบสอบถาม พบว่า กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ยังคงมีอัตราการ เติบโตสูงสุด โดยมีค่าเฉลี่ย EPS Growth ที่ร้อยละ 32   อันดับสองคือ ธนาคาร เติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 22.2 อันดับต่อมาคือ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง เติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.2

นักวิเคราะห์ที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77 เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติจะยังคงซื้อสุทธิต่อเนื่องจากปีก่อน โดยมีเหตุผลหลักคือ ราคาหุ้นไทยนับว่าถูกมากเมื่อเทียบ กับตลาดอื่นในภูมิภาค

ตลาดการลงทุน สำหรับกลุ่มธุรกิจที่น่าลงทุนนั้น นักวิเคราะห์แนะนำ ธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์ เป็นอันดับต้น ๆ สำหรับกลุ่มอื่นที่แนะนำรองลงมาคือ พลังงาน โรงไฟฟ้า รับเหมาก่อสร้าง และชิ้นส่วนอิเล็คโทรนิคส์ ทั้งนี้ เชื่อว่ากลุ่ม ธนาคารจะได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยขาลง ที่จะกระตุ้นยอดสินเชื่อและช่วยให้ผลประกอบการของกลุ่มนี้มีการเติบโต อสังหาริมทรัพย์ก็จะได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงเช่นกัน และยังได้ผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย

หุ้นที่นักวิเคราะห์แนะนำให้ลงทุนตรงกันหลายสำนักวิจัย ได้แก่ AP, BBL, KBANK, SPALI, TOP เป็นต้น (เรียงตามลำดับตัวอักษร) นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังมีคำแนะนำให้แก่นักลงทุน โดยแนะให้หาจังหวะลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีอัตราเงินปันผลสูง ใช้ความระมัดระวังและรอบคอบในการตัดสินใจลงทุน รวมทั้งติดตามข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ทางการเมือง

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่ามีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ที่เตรียมเรซูเม่ที่หาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของตนโดยการสำรวจด้วยคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด