9 สัญญาณบ่งบอก Workload ดูยังไงว่าลูกทีมงานหนักไปหรือเปล่า

9 สัญญาณบ่งบอก Workload ดูยังไงว่าลูกทีมงานหนักไปหรือเปล่า
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

แม้บางครั้งการได้ทำงานบ่อยๆ หรือทำงานหนักๆ จะช่วยให้พนักงานได้ฝึกฝนทักษะหรือรู้จักความอดทนมากขึ้น แต่ก็ควรอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ หากสะสมจนกลายเป็น Workload ก็อาจทำให้เขาเกิด อาการเครียด ได้ แถมยังจะส่งผลต่อเนื่องไปในหลายเรื่อง ๆ รวมถึงประสิทธิภาพของการทำงานด้วย ดังนั้นมาดูวิธีสังเกต พนักงานที่กำลังเผชิญกับภาวะ Workload และวิธีลดภาระงานให้เหมาะสม ทำได้อย่างไรบ้าง

9 สัญญาณเตือน พนักงานกำลัง Workload

การเป็น หัวหน้าทีมที่ดี หรือการเข้าถึงพนักงานของบริษัท ถือเป็นหัวใจหลักของการบริหารงานที่เกี่ยวกับตัวบุคคล การเป็นหัวหน้านั้นไม่ใช่เพียงแต่ต้องบริหารงานให้เป็นอย่างเดียว แต่ต้องรู้จักบริหารคนให้ได้ด้วย ควรลองหาโอกาสหมั่นสอบถามและพูดคุยกับคนในทีมอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียทั้งงานและคนที่มีความสามารถไป และนี่คือ 9 สัญญาณเตือน Workload ที่ควรสังเกตให้ดี ว่าพนักงานกำลังเผชิญกับ Workload อยู่หรือไม่

1. มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด

ข้อนี้น่าจะสังเกตได้ง่ายที่สุด เพราะแต่เดิมหากพนักงานมีนิสัยร่าเริง ตั้งใจทำงาน พูดคุยและมีมนุษย์สัมพันธ์กับทุกคนในที่ทำงาน แต่กลับเปลี่ยนไป ไม่ค่อยร่าเริง และพูดคุยกับคนรอบข้างเหมือนแต่ก่อน ก็ควรลองหาเวลาพูดคุยกับพนักงานคนนั้นเป็นการส่วนตัว ถึงสาเหตุที่ทำให้มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป หากเกี่ยวข้องกับเรื่องของงานจริง ๆ ก็ควรรีบหาทางแก้ไขร่วมกันให้เร็วที่สุด เพราะการเป็นหัวหน้างานที่ดีนั้น จะต้องรู้จักนิสัยของพนักงานหรือลูกทีมทุกคนของตัวเองเป็นอย่างดี จึงจะทำให้สังเกตุภาวะ Workload ของคนในทีมได้

2. มีการแยกตัวออกจากสังคมในออฟฟิศ

อีกหนึ่งจุดสังเกต Workload คือ พนักงานบางคนอาจมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมทีมหรือคนอื่น ๆ ในทีมน้อยลง หรือชอบปลีกวิเวกไปใช้ชีวิตอยู่คนเดียว แอบไปนั่งทำงานเงียบ ๆ ใส่หูฟังทำงานตลอดเวลา ไม่เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่บริษัทจัดให้ นอกจากนี้คือ ไม่ให้ความร่วมมือเรื่องงานกับเพื่อน ๆ คนอื่นในทีม ทำเฉพาะงานของตนเอง สิ่งเหล่านี้ก็อาจเป็นสัญญาณว่าพนักงานกำลังต้องการความช่วยเหลือจาก Workload ได้เช่นกัน

3. ลาป่วยบ่อย

การลาป่วยของพนักงานถือเป็นสิทธิตามกฎหมาย ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 30 วันต่อปี พนักงานสามารถใช้ได้ตามสิทธิที่กำหนดไว้ แม้เราอาจจะไม่รู้ได้เลยว่าเขาป่วยจริงหรือป่วยการเมือง แต่หากพนักงานมีพฤติกรรมลาป่วยบ่อย แบบไม่ทราบสาเหตุของอาการป่วยที่แน่ชัด อาจเป็นสัญญาณว่าพนักงานกำลังอยู่ในภาวะ Workload จนส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ ทั้งนี้อาการป่วยอาจเกิดจากความเครียดจากงาน จนนำไปสู่โรคต่าง ๆ ทางร่ายกายได้เช่นกัน

4. ทำงานนอกเวลางานบ่อยครั้ง

สมัยนี้เรื่องของ Work Life Balance เป็นสิ่งสำคัญ หลายบริษัทเริ่มตระหนักถึงเทรนด์นี้มากขึ้น โดยจะให้ความเคารพกับสิทธิและเวลาส่วนตัวที่อยู่นอกเหนือจากเวลางานของพนักงาน เพื่อให้ได้คลายความเครียด และไม่ต้องนำเรื่องงงานติดตัวกลับไปที่บ้านด้วย แต่หากเริ่มสังเกตเห็นว่า ลูกทีมมาทำงานเช้ากว่าเดิม กลับดึกอยู่บ่อยครั้ง หรือบางครั้งก็มีการหอบโน้ตบุ๊กกลับไปที่บ้านด้วย เป็นอีกหนึ่งสัญญาณของการทำงานแบบ Workload ที่ต้องรีบแก้ไขหรือให้การช่วยเหลือ

5. เกิดข้อผิดพลาดในการทำงาน

เรื่อง Human Error หรือความผิดพลาดในการทำงานเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ส่วนหนึ่งก็มีสาเหตุมาจากการที่พนักงานมักทำงานหนักมากเกินกว่าที่ศักยภาพจะรับไหว หรือทำงานในปริมาณที่มากเกินไป จนส่งผลให้เกิดข้อผิดพลาดหลายอย่างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหลงลืมงานบางชิ้น ตกหล่นในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือการตัดสินใจที่ผิดพลาด ฯลฯ จะเห็นได้ชัดหากพนักงงานคนดังกล่าวเคยทำงานอย่างรอบครอบ ไม่เคยทำงานพลาด แต่สุดท้ายกลับมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น โดยเฉพาะกับเรื่องที่ทำเป็นบ่อย ๆ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า พนักงานอาจกำลังเผชิญกับภาวะ Workload อยู่

6. มีอาการเครียดอย่างเห็นได้ชัด

การที่คนเราเกิดความเครียดสะสม อาจส่งผลทำให้สารเคมีในสมองแปรปรวน จนสามารถแสดงออกมาเป็นอาการทางร่างกายหรือพฤติกรรมที่สังเกตได้ เช่น มีท่าทางหดหู่ ซึมเศร้า เป็นกังวลกับทุกเรื่อง ไม่กล้าตัดสินใจ รู้สึกนอยด์กับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ฯลฯ ซึ่งอาการเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการทำงานทั้งสิ้น แถมยังส่งผลต่อร่างกายในระยะยาวอีกด้วย ปิดท้ายด้วยเรื่องของการลาออกไปหางานใหม่ เพื่อกำจัดความเครียดจากภาวะ Workload ที่ต้องเผชิญ

7. เริ่มแสดงอารมณ์ฉุนเฉียว

บางทีคนเราเมื่อเจอสภาวะงานแบบ Workload หรือภาระงานที่มากกว่าเวลาที่มี ก็อยากหาทางระบายความเครียดออกไป บางคนจึงเลือกที่ระบายออกมาทางสีหน้าและอารมณ์ รวมไปถึงการกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการพูดจาไม่ดีใส่เพื่อนร่วมงาน หรือหากมีข้อขัดแย้งเล็กน้อยเกิดขึ้นในทีม กลับใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลในการตัดสนินใจ ฯลฯ

8. แอบร้องไห้

มนุษย์นั้นมีวิธีการระบายความเครียดที่แตกต่างกันออกไป การร้องไห้ก็ถือเป็นการระบายความเครียดอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของหัวหน้างานที่จะต้องสังเกตพฟติกรรมของลูกทีมแต่ละคน หากสังเกตได้ว่าพนักงานแอบไปร้องไห้ ให้ลองหาเวลาพูดคุย หากไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ก็อาจมาจากปัญหาเรื่องงานที่มากเกินไปหรือ Workload ที่อาจนำไปสู่การเข้าใจปัญหาอื่น ๆ ได้อีกด้วย ไม่ควรปล่อยปละละเลย และรีบพูดคุยทำความเข้าใจให้เร็วที่สุด

9. ไม่ดูแลตัวเอง

ส่วนใหญ่การที่คนเราออกจากบ้านไปทำงาน ก็มักจะต้องแต่งตัวดี เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเอง การสังเกตปัญหา Workload ของพนักงานก็สามารถดูได้จากการเปลี่ยนแปลงในการดูแลตัวเองของพนักงานได้เช่นกัน โดยเฉพาะคนที่เคยใส่ใจเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมมาก่อน แต่เมื่อทำงานไปสักระยะ เริ่มเปลี่ยนแปลงพร้อมทั้งมีพฤติกรรมไม่เหมือนเดิม ทั้งหมดนี้อาจแสดงถึงความเหนื่อยล้าจากงานที่มากเกินไปจนไม่มีเวลาดูแลตัวเอง หรือไม่มีความสุขกับงานที่ทำอยู่ก็เป็นได้

วิธีลด Workload ของพนักงาน

เมื่อทราบถึงวิธีสังเกตหรือสัญญาณบ่งบอกว่าพนักงานกำลังเผชิญความเครียดจากภาวะ Workload กันไปแล้ว ก็ถึงเวลาของหัวหน้างานที่ต้องลงสนามเพื่อแก้ไขปัญหานี้ให้พนักงาน มาดูวิธีลด Workload ของพนักงานแบบง่าย ๆ ที่ JobsDB อยากแนะนำ

1. แบ่งสรรปันส่วนจำนวนงานให้ดี

อันดับแรกเลยคือเรื่องของจำนวนชิ้นงาน ที่หัวหน้าต้องเป็นคนลงมาจัดการ โดยต้องสกรีนให้ลูกทีมก่อนว่างานชิ้นไหนสำคัญมากหรือสำคัญน้อย และจัดการกำหนดสเดดไลน์ของแต่ละงานให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ทุกงานเป็นงานที่รีบไปเสียหมด ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นดินพอกหางหมูให้กับทีม ที่สำคัญควรเกลี่ยงานให้คนในทีมช่วยกันทำอย่างเหมาะสม

2. ต้องรู้ว่าใครถนัดงานแบบไหน

การใช้คนให้ถูกกับงาน ยังถือเป็นที่เรื่องสำคัญ เพราะแต่ละคนมักมีความถนัดที่แตกต่าง การจะหวังให้พนักงานทำงานทุกอย่างได้ อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด การที่พนักงานทำสิ่งที่ถนัดและมีทักษะที่ตรงกับเนื้องาน มักจะได้งานที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเสมอ อีกทั้งยังอาจช่วยประหยัดเวลา สามารถเคลียร์งานได้เร็วกว่า แต่การให้ใครทำอะไรที่ไม่ถนัด ซึ่งจะทำให้เสียเวลาจนกลายเป็น Workload จนงานออกมาไม่มีคุณภาพนั่นเอง

3. ให้ลูกทีมทำ To-Do List

พยายามกระตุ้นให้ลูกทีมจัดทำ To-Do List ส่วนตัวของตัวเอง หรือใช้เครื่องมือและแอปฯ To-do List เพื่อเป็นการจัดลำดับความสำคัญของแต่ละชิ้นงานที่ถืออยู่ในมือ บางครั้งการที่มีงานถาโถมเข้ามามาก ๆ อาจทำให้คนเราเกิดความกดดัน จับต้นชนปลายไม่ถูก ว่าควรจะเริ่มอะไรจากตรงไหน การมี To-Do List ส่วนตัวติดตัว จะช่วยให้บริการจัดการภาระงานได้ดีและลด Workload ได้แน่นอน

4. สร้างตารางงานร่วมกัน

เมื่อมี To-Do List ส่วนตัวกันไปแล้ว ก็ควรมีตารางงานของทีม เพื่อเอาไว้คอยอัปเดต Workload ภาพรวมของทีมด้วย จุดนี้จะช่วยให้ทั้งตัวหัวหน้าและลูกทีมเองได้รู้ถึงงานทั้งหมด ว่าใครทำอะไร งานชิ้นนี้ไปถึงไหนแล้ว ยังเหลืองานกี่ชิ้นที่ยังไม่เสร็จบ้าง สามารถใช้แอปพลิเคชันออนไลน์ต่างๆ เข้ามาเป็นตัวช่วย เพื่อให้ทุกคนในทีมเข้าถึง Board นี้ได้ ทำให้ทุกคนสามารถเข้าไปอัปเดตสเตตัสงานของตัวเอง อัปเดตงานของคนอื่นในทีมที่ตัวเองต้องทำต่อ ในมุมของหัวหน้าก็สามารถจัดการงานภาพรวมในทีมได้ง่าย จัดสรรงานให้ลูกทีมได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น

5. หาเวลาให้พนักงานคลายเครียด

แม้ว่างานจะหนักแค่ไหน แต่ทุกคนก็สมควรต้องได้พักผ่อน เพื่อผ่อนคลายสมองจากงานที่แสนหนักหน่วง แล้วยิ่งต้องเผชิญกับสภาวะ Workload เชื่อว่าพนักงานทุกคนย่อมเกิดความเครียด ดังนั้นหัวหน้าจึงควรกระตุ้นให้ลูกทีมหาเวลาพักในระหว่างวันดูบ้าง ไม่ควรกดดันให้ทำงานด่วนตลอดเวลา หรืออาจหาเวลาไปทานข้าวร่วมกันเป็นทีม นอกจากได้ผ่อนคลาย ได้สร้างสัมพันธ์ที่ดีในทีมแล้ว ยังได้คอยอัปเดตถึงปัญหาที่แต่ละคนเจอด้วย เพราะบางครั้งการคุยกันภายใต้บรรยากาศสบาย ๆ อาจทำให้พนักงานรู้สึกสบายใจที่จะเล่าถึงปัญหา มากกว่าการคุยกันในออฟฟิศ

พฤติกรรมหรือการแสดงออกของพนักงานที่เปลี่ยนไป ย่อมมีส่วนหนึ่งที่ต้องเกิดจากการทำงานอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนหรือเรื่องของสภาวะ Workload หากคนที่เป็นหัวหน้างานได้ลองสังเกตพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เราแนะนำไปแล้ว กลับพบว่าลูกทีมของตัวเองกำลังเป็นแบบนั้นอยู่ นั่นแปลว่าสัญญาณอันตรายกำลังเกิดขึ้นกับทีมอย่างแน่นอน ควรต้องรีบแก้ไข หาทางพูดคุยและจัดการกับ Workload เหล่านั้นให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อความสุขในการทำงานของทุกฝ่าย

ทั้งนี้หากหัวหน้าทีมหรือองค์กรกำลังเตรียมปรับแผนงานและวัฒนธรรมองค์กร สามารถดูผลสำรวจสิ่งที่คนหางานต้องการจากองค์กร ซึ่งสำรวจจากผู้หางานกว่า 90,000 คน สามารถดาวน์โหลดฟรีได้เลยที่ Future of Recruitment

More from this category: การเป็นผู้นำ

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่ามีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ที่เตรียมเรซูเม่ที่หาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของตนโดยการสำรวจด้วยคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด