ปิดจุดด้อย เสริมจุดเด่น ให้เรซูเม่ได้อย่างไรบ้าง

ปิดจุดด้อย เสริมจุดเด่น ให้เรซูเม่ได้อย่างไรบ้าง
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

หากพูดถึง “เรซูเม่” ถือเป็นปราการด่านแรกเลยก็ว่าได้ ที่เราจะใช้ส่งไปให้บริษัทต่างๆ พิจารณาในการเรียกเราไปสัมภาษณ์หรือรับเราเข้าทำงาน เพราะฉะนั้นการทำเรซูเม่ของเราให้น่าสนใจ ถือเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดีไซน์ของเรซูเม่ รวมไปถึงการใส่คุณสมบัติ ประสบการณ์การทำงาน จุดด้อย และจุดเด่น ที่อยากให้บริษัทนั้นๆ พิจารณาเรา มาดูกันว่าจะมีวิธีไหนที่จะช่วยยกระดับให้เรซูเม่ของเราโดดเด่นกว่าคู่แข่ง

เรซูเม่

อัปเดตเรซูเม่อยู่เสมอ

อันดับแรกที่ต้องทำคือ ต้องหมั่นอัปเดตเรซูเม่ของเราให้สดใหม่อยู่เสมอ แม้บางครั้งอาจจะไม่ใช่ช่วงที่เราอยากจะหางานใหม่ก็ตาม เพราะการเตรียมพร้อมอยู่เสมอก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะไม่แน่อาจจะมีโอกาสด้านการงานใหม่ๆ โผล่เข้ามาหาคุณแบบไม่ทันตั้งตัว เมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ เราจะได้ไม่ต้องเสียเวลาอัปเดตเรซูเม่ที่ร้างมานานของเรา เผลอๆ เราจะต้องเสียโอกาสให้คู่แข่งคนอื่นที่มีเรซูเม่พร้อมส่งแล้ว ตัดหน้าแย่งชิง Offer สุดเร้าใจไปเสียก่อน

ดีไซน์สวยและดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การผสมผสานเรื่องดีไซน์อันสวยงามลงไปในเรซูเม่ ถือเป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสำคัญ ต่างจากสมัยก่อนที่เรซูเม่เป็นเพียงเอกสารธรรมดา เพราะถ้าเราออกแบบเรซูเม่ของเราให้สวยงามและดูดี ก็จะช่วยให้ดูโดดเด่นและดึงดูดสายตาของผู้พิจารณาได้ อีกทั้งบางสายงาน ที่มีเรื่องของการดีไซน์มาเกี่ยวข้องในหน้าที่อยู่แล้ว ก็อาจเป็นตัวช่วยเพิ่มคะแนนบวกให้กับเราอีกต่างหาก ส่วนใครที่กังวลว่าตัวเองไม่มีทักษะทางด้านกราฟิกหรือการออกแบบ ก็ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะในปัจจุบันมีหลายเว็บไซต์ที่ให้บริการเทมเพลทในการสร้างเรซูเม่อันสวยงามอยู่แล้ว เพียงแค่เราเข้าไปดัดแปลงหรือลองเล่นๆ ดู รับรองว่าเรซูเม่ของเราจะสวยและโดดเด่นกว่าที่เคยแน่นอน

เรซูเม่ที่ดี ควรมีอะไรบ้าง

เราเชื่อว่าหลายคนคงรู้กันแล้วล่ะ ว่าในเรซูเม่ควรประกอบด้วยข้อมูลอะไรบ้าง แต่มาทบทวนกันอีกสักเล็กน้อยแล้วกัน ว่าเราใส่ข้อมูลอะไรลงไปบ้าง

1. ชื่อ-นามสกุล

สำหรับชื่อ-นามสกุล ควรใช้ฟ้อนต์ที่เป็นตัวใหญ่กว่าส่วนอื่นๆ ไม่ใส่ควรชื่อเล่น และควรตรวจสอบตัวสะกดให้ถูกต้อง ที่สำคัญเลยก็คือ ไม่ควรจัดวางตัวอักษรไว้ทางมุมซ้ายของหน้ากระดาษ เพราะบางบริษัทอาจทำการเย็บกระดาษรวมเข้ากับเอกสารอื่นๆ อาจจะทำให้มองไม่เห็นชื่อของเราได้

2. ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และอีเมล

ข้อมูลติดต่อทั้ง 3 อันนี้ ควรใส่ลงไปให้ครบ สำหรับการติดต่อกลับของผู้ว่าจ้าง โดยการวางตำแหน่ง ควรหามุมที่เห็นได้ชัดเจน หรือทำฟ้อนต์สีพิเศษลงไปเพื่อความเด่นชัด ในส่วนของอีเมล ควรเลือกใช้อีเมลที่ดูเป็นทางการ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ

3. ประวัติการศึกษา

สามารถใส่ประวัติการศึกษาของเราลงไปได้เลย โดยเรียงลำดับจากการศึกษาปัจจุบันที่สำเร็จก่อน ไล่ลงไปจนถึงวุฒิการศึกษาเริ่มต้น หากมีประวัติการอบรมด้านต่างๆ ก็สามารถใส่ต่อท้ายจากส่วนนี้ได้เช่นกัน

4. ประสบการณ์การทำงาน

เช่นเดียวกันกับประสบการณ์การทำงาน ให้ใส่ประสบการณ์ปัจจุบันก่อน ไล่ลงไปจนถึงงานแรกๆ ที่เราเคยทำ ส่วนเด็กจบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ สามารถประยุกต์นำประสบการณ์การฝึกงาน หรือการฝึกอบรมในด้านที่เกี่ยวข้องกับงานที่สมัคร ใส่ลงมาในส่วนนี้ได้เช่นกัน

5. ความสามารถและทักษะ

เราสามารถใส่ความสามารถพิเศษและทักษะต่างๆ ที่เรามี เพิ่มเติมลงไปได้ในเรซูเม่ เพื่อประกอบการพิจารณา เช่น ทักษะทางด้านภาษา, คะแนนวัดผลทางด้านภาษาจากสถาบันชั้นนำ รวมไปถึงความสามารถทางด้านคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมต่างๆ เป็นต้น

ควรปิดจุดด้อยอย่างไรในเรซูเม่

ได้รู้ข้อมูลเบื้องต้นที่ควรใส่ในเรซูเม่ไปแล้ว คราวนี้มาดูกันว่าเราควรปิดจุดด้อยในเรซูเม่ของเราอย่างไรได้บ้าง

- คนที่ว่างงานมาเป็นเวลานาน

สำหรับคนที่ว่างงานมาเป็นเวลานาน แล้วอยากกลับมาเป็นพนักงานบริษัทอีกครั้ง คงจะกังวลไม่น้อยในการทำเรซูเม่ ครั้นจะปล่อยให้เกิดช่องเวลาในพาร์ทของประสบการณ์การทำงาน ก็ดูจะไม่เหมาะนัก ดังนั้นระหว่างที่กำลังรองานประจำอยู่ อาจจะลองหางานพาร์ทไทม์ งานฟรีแลนซ์ งานอาสาสมัคร หรือรับงานพิเศษในช่วงเวลาสั้นๆ ดู แล้วยิ่งถ้างานพิเศษที่ได้ทำ เป็นโปรเจคต์ที่ได้ร่วมงานกับบริษัทชั้นนำด้วยแล้ว ยิ่งจะทำให้ดูน่าเชื่อถือ โดยเราสามารถนำเอาประสบการณ์ในการทำงานพิเศษเหล่านี้ ใส่ลงไปในเรซูเม่ได้ เพื่อจะให้ผู้จ้างงานเห็นว่าเราเป็นคนพยายามสรรหางานทำ เพื่อเสริมประสบการณ์ตนเองอยู่เสมอ

- คนที่ถูกให้ออกจากงาน

อีกหนึ่งปัญหาที่หลายคนกังวลใจ นั่นก็คือการถูกให้ออกจากงาน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะบางครั้งการโดนให้ออกจากงาน ไม่ได้มาจากความผิดของพนักงาน แต่อาจเป็นเพราะปัญหาต่างๆ ของบริษัทโดยเราสามารถแจ้งปัญหาได้โดยตรงกับที่ทำงานใหม่ ที่เรากำลังจะไปสมัครได้เลย เพราะถ้าหากเราโกหกว่า ยังทำงานอยู่จนถึงปัจจุบัน แล้วผู้จ้างงานคนใหม่รู้ความจริง อาจจะทำเสียความน่าเชื่อถือและเกิดปัญหาภายหลังได้

- คนที่เพิ่งได้งานใหม่ แต่กลับถูกให้ออกงานอย่างรวดเร็ว เพราะพิษเศรษฐกิจ

หลายคนเข้าใจว่าการระบุประสบการณ์การทำงานในช่วงเวลาสั้นๆ ลงไปเรซูเม่นั้น อาจจะดูไม่ดีนัก แต่แท้จริงแล้ว เราสามารถระบุลงไปในเรซูเม่ได้ด้วยเช่นกัน เพราะประสบการณ์การทำงานทุกอย่าง ล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น ไม่ว่าจะสั้นหรือยาว แล้วยิ่งถ้าการถูกให้ออกจากงาน ไม่ใช่ปัญหาจากตัวเราด้วยแล้ว ผู้จ้างงานที่ใหม่ ย่อมเข้าใจถึงปัญหานี้ได้อย่างแน่นอน

- คนที่สมัครงานในตำแหน่งที่ต่ำกว่า

หากมีความจำเป็นต้องสมัครงานใหม่ในตำแหน่งงานที่ต่ำกว่าที่เก่าที่เคยทำ จริงๆ แล้วก็ถือเป็นเรื่องแปลกอยู่เหมือนกัน แต่เราสามารถอธิบายกับผู้จ้างงานคนใหม่ได้ว่า บางทีตำแหน่งมักเป็นแค่ชื่อเรียกเท่านั้น แต่เรานั้นโฟกัสกับการทำงาน และมุ่งหมายให้องค์กรที่เราอยากทำงานด้วยนั้น ประสบความสำเร็จและเดินไปข้างหน้าได้มากกว่าจะยึดมั่นกับชื่อตำแหน่ง

- คนที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ ไม่มีประสบการณ์การทำงาน

สำหรับนักศึกษาจบใหม่ สามารถกล่าวถึงประสบการณ์การฝึกงานได้ และยิ่งถ้าเคยฝึกงานกับบริษัทชั้นน้ำด้วยแล้ว ยิ่งต้องมีภาษีดีขึ้นแน่นอน นอกจากนี้ประสบการณ์ยังสามารถเก็บเกี่ยวได้จากทุกกิจกรรมที่เคยทำในรั้วมหาวิทยาลัย เช่น การทำรายงานเป็นกลุ่ม งานอาสาสมัคร การออกค่าย การทำกิจกรรมต่างๆ ภายในคณะ กิจกรรมในมหาวิทยาลัย กิจกรรมที่แสดงถึงความเป็นผู้นำ เรื่องราวเหล่านี้ก็สามารถนำมาระบุในเรซูเม่ได้เช่นกัน

ถึงเวลาเสริมจุดเด่นให้ปังกว่าที่เคย

เมื่อจัดการปกปิดจุดด้อยได้สำเร็จ ก็ได้เวลาเติมเต็มจุดเด่นให้เราโดดเด่นและฉายแสงเหนือคู่แข่งกันแล้ว

- อัปเดตทักษะตามเทรนด์

ในสมัยนี้เรื่องราวของเทรนด์ต่างๆ ยังคงหมุนไปในทุกวงการ เรื่องราวของการทำงานก็เช่นกัน เราจึงควรต้องศึกษาว่าช่วงนี้ตลาดต้องคนที่มีคุณสมบัติเช่นไร และเราก็ควรนำจุดนี้กลับมาพัฒนาทักษะของตัวเอง ที่สำคัญคือเมื่อพัฒนาได้แล้ว อย่าลืมไฮไลท์จุดเด่นของเราให้โดดเด่นกว่าผู้สมัครงานคนอื่นด้วย

- อ้างอิงหลักฐานประกอบการโชว์ผลงาน

ก่อนหน้านี้หากเรามีผลงานชิ้นโบว์แดง และมีหลักฐานที่สามารถอ้างอิงได้ว่าความสามารถของคุณเป็นที่ยอมรับของหัวหน้างานและบริษัทเก่า เราควรนำผลงานนี้มาใช้อ้างอิงในการสมัครงานด้วย เช่น บันทึกการประเมินผลงาน รางวัลที่ได้รับ จดหมายชมเชยจากหัวหน้างาน หรือรายงานด้านการขาย เป็นต้น

- บอกหน้าที่การทำงานแล้ว อย่าลืมบอกถึงความสำเร็จ

เมื่อเราเล่าถึงประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาอย่างโชกโชนแล้ว อย่าลืมเสริมการบอกเล่าด้วยการสานต่อว่าประสบการณ์ดังกล่าวของคุณ ช่วยพัฒนางานและสานต่อให้บริษัทประสบความสำเร็จได้อย่างไรบ้าง

- ขอคำแนะนำจากเพื่อนในการทำเรซูเม่

เมื่อเราได้ประกอบร่างเรซูเม่ของเราจนเสร็จสิ้น ลองถามความเห็นจากคนในครอบครัวหรือเพื่อนๆ ดูบ้าง ว่ามีจุดไหนที่ดีแล้ว หรือจุดไหนยังต้องปรับหรือเพิ่มเติมอีกบ้าง เพื่อความสมบูรณ์แบบของเรซูเม่

- อัปเดตความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง

หากว่ายังอยู่ในช่วงทรงๆ ไม่อยากหางานใหม่ ก็ต้องไม่ลืมที่จะใส่ผลงานที่ประสบความสำเร็จในงานปัจจุบันลงไปในเรซูเม่อยู่เสมอ จะได้ไม่ลืมว่าเราเคยทำอะไรไปบ้าง และเมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้เรซูเม่จริงๆ จะได้ไม่พลาดการโชว์ผลงานชิ้นสำคัญที่เคยได้ทำไป

อัปเดตโปรไฟล์กับ JobsDB

เมื่อได้เรซูเม่ที่สมบูรณ์แบบ อย่าลืมแวะมาอัปเดตโปรไฟล์กับทาง JobsDB ด้วย เพราะนี่จะเป็นโอกาสที่ทำให้ผู้ประกอบการทั้งหลาย สามารถค้นหาข้อมูลของเราได้ง่ายมากยิ่งขึ้น และช่วยทำให้เรามีโอกาสให้การได้งานใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

สรุปการปิดจุดด้อย เสริมจุดเด่น ให้เรซูเม่ของเรา

หากเราค้นพบจุดด้อยของตัวเอง และหาทางแก้ไข จนสามารถพัฒนาตัวเองไปได้อีกขั้น ก็ต้องไม่ลืมที่จะหาจุดเด่นใหม่ๆ มาเสริมให้กับตัวเราเองด้วย เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้มีผลงานอย่างมากกับเรซูเม่ของเรา เพราะการอัปเดตเรซูเม่อยู่เสมอ จะช่วยเพิ่มโอกาสและเป็นแต้มต่อให้เราได้รับโอกาสที่ดีและได้งานใหม่ได้ง่ายขึ้น และอย่าลืมที่จะเข้าไป อัปเดตโปรไฟล์กับ jobsDB ด้วย

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

8 เคล็ดลับสร้างความมั่นใจเมื่อสมัครงานใหม่

6 เทคนิคส่องสปอตไลท์ให้เรซูเม่ของคุณเฉิดฉายเข้าตากรรมการ

More from this category: Resumes

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่ามีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ที่เตรียมเรซูเม่ที่หาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของตนโดยการสำรวจด้วยคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด