ธุรกิจกับนวัตกรรม

ธุรกิจกับนวัตกรรม
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

ในปัจจุบัน“นวัตกรรม”ได้เข้ามาสู่ธุรกิจเอสเอ็มอี โดยผู้ประกอบการไม่สามารถหนีได้ ซึ่งมีทั้งการยัดเยียด และแสวงหา หรือ การมุ่งสร้างนวัตกรรมขึ้นมาแม้กระทั่งการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ลูกค้าหรือผู้บริโภคได้ทราบว่าธุรกิจหรือบริการมีนวัตกรรมที่สุดยอดหรือความแปลกใหม่อย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นการเรียกความสนใจจากผู้บริโภคเพื่อให้เกิดความต้องการ และการซื้อตามมา

“นวัตกรรม” หมายถึง สิ่งที่แปลกใหม่ ซึ่งมีความแตกต่างจากสิ่งที่เคยมีอยู่แล้ว โดยนวัตกรรมเป็นสิ่งมีคุณค่าในตัวของมันเอง หากสิ่งนั้นมีคุณค่าในทางเศรษฐกิจก็สามารถตีค่าเป็นตัวเงินได้ ซึ่งมีผู้คนยินดีที่จะจ่ายในสิ่งแปลกใหม่นั้น โดยเรียกว่าเป็นนวัตกรรมทางธุรกิจ เช่น รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ แต่ในทางกลับกัน หากความแปลกใหม่ที่ไม่ได้มุ่งหวังในการซื้อขาย แต่มีผลให้ประชาชน หรือ สังคมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็มักได้รับความนิยมนำมาใช้กัน โดยที่ไม่ต้องซื้อ โดยเรียกว่าเป็นนวัตกรรมทางสังคม เช่น วัฒนธรรมใหม่ ภาษา ความนิยม รวมทั้งบริการที่จัดขึ้นโดยภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยไม่ต้องซื้อหา

ดังนั้นนวัตกรรมจึงเป็นสิ่งที่มีความแปลกใหม่ และต้องมีคุณค่าในตัวของมันเอง แต่หากสิ่งแปลกใหม่นั้นไม่มีคนต้องการซื้อ หรือต้องการใช้สิ่งนั้น สิ่งประดิษฐ์นั้นจึงยังไม่เข้าขั้นของนวัตกรรม แต่เป็นเพียง “สิ่งประดิษฐ์” ที่เกิดขึ้นใหม่เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่สิ่งประดิษฐ์มักเป็นสิ่งที่ใช้ในการตั้งโชว์ในตู้เท่านั้น ไม่เกิดความต้องการซื้อหรือการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเอสเอ็มอีที่สนใจเกี่ยวกับนวัตกรรม จึงต้องเข้าใจความหมายของการแสวงหาหรือพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้นในกิจการของตนเอง โดยยึดหลักว่า “แปลกใหม่ ขายได้ และกระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อ” จากหลักการนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรตระหนักในการคิดค้น หากคุณไม่สามารถสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจให้กับผู้บริโภคได้ ก็จะไม่มีการต้องการซื้อ

ประเด็นที่ผู้ประกอบการควรสนใจ คือ ทำอย่างไรถึงจะสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจขึ้นมาได้ โดยมีหนังสือชื่อ “The Source of Innovation” ของ Eric von Hippel” ได้นำเสนอผลการวิจัยถึงแหล่งที่มาของนวัตกรรมทางธุรกิจ กล่าวว่า

ธุรกิจกับนวัตกรรม นวัตกรรมทางธุรกิจมีแหล่งที่มาอย่างน้อย 3 แหล่ง ได้แก่

  1. นวัตกรรมที่เกิดจากลูกค้า ผู้ใช้สินค้าหรือบริการ หรือผู้บริโภค
  2. นวัตกรรมที่เกิดจากผู้ผลิตสินค้าหรือบริการ
  3. นวัตกรรมที่เกิดจากผู้ผลิตหรือเจ้าของวัตถุดิบ

จากแนวคิดเดิมนั้น เจ้าของสินค้าหรือเจ้าของกิจการจะต้องเป็นผู้นำเสนอนวัตกรรมเพียงด้านเดียว ซึ่งหากให้ผู้ผลิตต้องแสวงหาเพียงฝ่ายเดียวนั้น จะทำให้โอกาสในการสร้างนวัตกรรมนั้นมีน้อยลง เพราะหากเน้นให้ผู้ผลิตสร้าง ทำให้ผู้ผลิตจำเป็นต้องลงทุนเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนา ซึ่งสามารถทำได้เฉพาะในองค์กรใหญ่ๆเท่านั้น แต่ในธุรกิจเอสเอ็มอีนั้นยังมีอยู่น้อยมาก ดังนั้นธุรกิจเอสเอ็มอีจึงต้องสร้างนวัตกรรมที่ได้จากลูกค้า ในเรื่องของความต้องการ ซึ่งจะทำให้มีการพัฒนาไปสู่นวัตกรรมได้ ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องติดตามความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ของซัพพลายเออร์ผู้ผลิตวัตถุดิบ หรือ เจ้าของวัตถุดิบ ที่มีของใหม่ วัสดุใหม่ หรือวัตถุดิบทดแทน ซึ่งอาจเป็นการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นได้ ในบางครั้งนวัตกรรมอาจเกิดจากวัสดุหรือองค์ความรู้ในด้านอื่นๆที่อาจไม่เกี่ยวข้องกันเลยด้วยซ้ำ เช่น ในการคิดค้นหัวเทียนที่ใช้ในการจุดระเบิดเครื่องยนต์ในรถยนต์ มาจากความพยายามในการสร้างเครื่องกำจัดกลิ่น โดยอาศัยคุณสมบัติของก๊าซโอโซนในการทำลายโครงสร้างโมเลกุลของสารที่ทำให้เกิดกลิ่น ต่อมาหลักการนี้จึงถูกนำไปใช้เป็นหัวเทียนจุดระเบิดในเครื่องยนต์เบนซิน และได้รับการพัฒนาจนทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

นวัตกรรมที่มีมาจากความต้องการของลูกค้าและคิดค้นขึ้นมาเองจากผู้ผลิต มักมีลักษณะเฉพาะตัวสำหรับธุรกิจนั้นโดยตรง ไม่ใช่จะเกิดได้กับธุรกิจทุกๆประเภท ดังนั้นนวัตกรรมจึงไม่จำเป็นต้องมาจากความคิดของผู้ผลิตเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น สิ่งรอบตัวและลูกค้าก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตสามารถสร้างนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการได้อย่างชัดเจน และก่อให้เกิดผลสำเร็จในเวลาต่อมา

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่ามีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ที่เตรียมเรซูเม่ที่หาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของตนโดยการสำรวจด้วยคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด