ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง มาแรงปี54

ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง มาแรงปี54
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

การพัฒนาเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภค ขณะที่คนรุ่นใหม่ใช้เวลาอยู่กับสื่อดิจิทัลออนไลน์มากขึ้น

ศิวัตร เชาวรียวงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มอินเตอร์แอคชั่น จำกัดในเครือกรุ๊ปเอ็ม กล่าวว่า แนวโน้มการสื่อสารผ่านสื่อดิจิทัลในปีนี้ "ประเด็นหลักที่นักการตลาดไม่ควรพลาด ประกอบด้วย 4 เทรนด์ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งซึ่งเป็นแนวทางที่จะใช้พัฒนาแคมเปญ เพื่อชิงความสนใจจากกลุ่มผู้บริโภคให้รับรู้สารจากแบรนด์ได้มากที่สุด"

เทรนด์แรก "วีดิโอ คอนเทนท์" ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้บริโภค ที่ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในเฉพาะบางกลุ่มบางคนอีกต่อไป ซึ่งเป็นผลมาจากการแข่งขันที่สูงมาก ในกลุ่มผู้ประกอบการที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทำให้การเข้าถึงวีดิโอคอนเทนท์ในสื่อออนไลน์สะดวกและได้รับความนิยมมากขึ้น เห็นได้จากกลุ่มศิลปินที่นิยมหันมาสร้าง Youtube Channel ของตัวเองมากขึ้น หรือเว็บไซต์ชั้นนำของประเทศ อย่าง mthai sanook kapook ต่างนำวีดิโอคอนเทนท์ ขึ้นมาจัดวางในตำแหน่งสำคัญในหน้าแรก

เทรนด์ที่สอง "การสื่อสารผ่านสมาร์ทโฟน" ในรูปแบบการพัฒนา โมบาย แอพพลิเคชั่น เนื่องจากผู้ใช้สมาร์ทโฟนในไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี และปัจจุบันมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ผ่านโทรศัพท์มือถือราว 18 ล้านราย หรือประมาณ 25% ของจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในประเทศไทย 70 ล้านหมายเลข จึงถือเป็นอีกช่องทางการสื่อสาร ที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมาก

ความนิยมในสมาร์ทโฟนที่สูงขึ้น สร้างโอกาสในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายด้วยรูปแบบใหม่ ๆ เช่น การสร้างโมบายแอพพลิเคชั่น ซึ่งนักการตลาด ควรใช้โมบายแอพพลิเคชั่นดังกล่าว เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ เพิ่มความถี่ในการติดต่อสื่อสาร มากกว่าที่จะหวังขยายฐานลูกค้าเพิ่มจากการใช้สื่ออินเทอร์เน็ต เนื่องจากผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน ในปัจจุบันยังเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ และยังเป็นกลุ่มเดียวกับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ซึ่งปัจจุบันขยายจำนวนเพิ่มเป็น 24 ล้านคนทั่วประเทศ

เทรนด์ที่สาม "การใช้งาน Search และ โซเชียลมีเดีย " เพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อ เนื่องจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตมีมากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการต่าง ๆ ทั้งที่เจ้าของสินค้าเผยแพร่ออกมา และที่ผู้บริโภคแลกเปลี่ยนความเห็นกันในอินเทอร์เน็ต มีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย การหาข้อมูลโดยใช้ Search และ โซเชียลมีเดีย ทำได้สะดวก

จากการวิจัยของกรุ๊ปเอ็ม ในสหรัฐอเมริกา พบว่าผู้บริโภค 86% ใช้เสิร์ช อินเทอร์เน็ตหาข้อมูลในการตัดสินใจซื้อสินค้า โดยให้ความสำคัญกับข้อมูลจาก User Review ที่พูดถึงในเว็บไซต์ต่าง ๆ 30% และเว็บบล็อก ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งพบว่า 56% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต กล่าวว่า ความเห็นของบุคคลอื่น ๆ ใน โซเชียลมีเดีย เปลี่ยนทัศนคติที่เขามีต่อแบรนด์ หรือสินค้านั้น ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลจากผลวิจัยที่น่าสนใจว่า ผู้บริโภคเพียง 1% เท่านั้น ที่ตัดสินใจซื้อสินค้าโดยได้รับข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย นั่นหมายความว่า โซเชียลมีเดีย ในปัจจุบันใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ ไม่ใช่ใช้เป็นช่องทางการขายสินค้า

ทั้งนี้ กระบวนการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคอาจใช้เวลาถึง 60 วัน ในขณะที่จำนวนแหล่งข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตที่ใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจซื้อ มีมากถึง 9-11 แหล่ง นักการตลาดจึงควรให้ความสนใจกับการจัดการข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับสินค้า-บริการของตัวเอง และทำ Search Engine Marketing ให้มากขึ้นเป็นพิเศษ

เทรนด์ที่สี่ "การพัฒนาการของข้อมูลอุตสาหกรรมวงการโฆษณาออนไลน์" ที่ผ่านมา ข้อมูลเกี่ยวกับสื่อดิจิทัลในประเทศไทยยังขาดการพัฒนา ทำให้นักการตลาดขาดความมั่นใจในการตัดสินใจ ส่งผลให้งบ โฆษณาออนไลน์ มีสัดส่วนไม่เกิน 2% ของมูลค่างบโฆษณา 1 แสนล้านบาท หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา

ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง แต่สื่อดิจิทัล ออนไลน์ยังได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องในปีนี้ คาดว่ามูลค่าการใช้สื่อดังกล่าวจะเติบโต 30-50% มีสัดส่วนประมาณ 2.5-3% ของอุตสาหกรรมโฆษณา โดยพบว่ากลุ่มสินค้าคอนซูเมอร์ในปีนี้ เป็นกลุ่มที่ใช้สื่อดิจิทัล ออนไลน์ เพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว หรือมากกว่างบที่เคยใช้มาตั้งแต่ปี 2550-2553 รวมกัน เนื่องจากยังเป็นกลุ่มที่ใช้งบประมาณไม่สูง เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น

ความท้าทายของนักการตลาดยุคดิจิทัลอยู่ที่ การนำ 4 แนวโน้มดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งเหล่านี้มาใช้ในแคมเปญการตลาดอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการสื่อสารกับกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่มากที่สุด


ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เทคนิคในการสร้างคลิปวิดีโอให้แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว

กลยุทธ์การโฆษณาสินค้าทางโทรทัศน์

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่ามีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ที่เตรียมเรซูเม่ที่หาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของตนโดยการสำรวจด้วยคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด