การลงทุนในตราสารประเภทซับซ้อน (Structured Products)

การลงทุนในตราสารประเภทซับซ้อน (Structured Products)
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

ในระยะหลัง ๆ สถาบันการเงินหลายแห่งจะแนะนำให้ลูกค้าบางกลุ่มฝากเงินหรือลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงมากกว่าฝากเงินธรรมดา ซึ่งแน่นอนเมื่อมีความเสี่ยงสูงขึ้น ลูกค้าก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วย ตราสารพวกนี้ผมขอเรียกรวมๆ กันว่า Structured Deposit คือ มีโครงสร้างการคำนวณดอกเบี้ยและรูปแบบการจ่ายคืนเงินฝากที่ซับซ้อนกว่าเงิน ฝากธรรมดา ๆ ที่เราคุ้นเคยกัน คือฝากเงินแล้วเมื่อครบกำหนดก็ได้เงินฝากเป็นเงินสดเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ย ตามที่ประกาศไว้แต่แรก

ทำความรู้จักกับ Structured Deposit

โดยปกติแล้วเวลาเราฝากเงิน ธนาคาร ก็จะรวบรวมเงินฝากจากพวกเราเป็นก้อนโต แล้วเอาเงินเหล่านั้นไปปล่อยสินเชื่อ ความเสี่ยงที่เกิดจากการที่ลูกค้าสินเชื่อจะชำระคืนหรือไม่เป็นเรื่องที่ ธนาคารต้องรับไปเอง เขามีภาระต้องจ่ายคืนเราเมื่อเราต้องการ หรือเมื่อครบกำหนด แล้วแต่ประเภทของเงินฝาก พร้อมดอกเบี้ยที่ตกลงไว้แต่แรก เราจึงไม่ต้องรับความเสี่ยงจากการที่ธนาคารนำเงินเราไปใช้

แต่หากเป็น Structured Deposit ที่โครงสร้างการกำหนดผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยโยงกับดัชนีทางการเงินอะไร บางอย่าง เช่น ขอยกตัวอย่างว่าโยงกับอัตราการปรับตัวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET 50 Index เป็นต้น ธนาคารก็อาจจะนำเงินที่รับฝากบางส่วนไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนและจ่ายผลตอบแทนนั้นให้แก่ผู้ฝาก ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในกรณีนี้ความเสี่ยงจากการปรับตัวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้ฝากเงินต้องเป็นผู้รับเอง

ธนาคารเอาเงินผู้ฝาก Structured Deposit บางส่วนไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะการที่ธนาคารรับเงินฝาก (Deposit) เขาจะมีภาระต้องจ่ายเงินต้นคืน ผู้ฝากเต็มจำนวน ส่วนดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนในกรณีนี้ผู้ฝากอาจไม่ได้เลย เพราะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯอาจขาดทุนจนไม่มีผลตอบแทนเลย ด้วยเหตุนี้ธนาคารจึงมีหน้าที่บริหารเงินฝากที่รับมาเพื่อให้สามารถจ่ายคืน เงินต้นเต็มจำนวนและในเวลาเดียวกันพยายามให้ได้ผลตอบแทนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ สูง ๆ จ่ายให้ผู้ฝากในรูปดอกเบี้ย

สมมติเราฝาก Structured Deposit 10 ล้านบาท ครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี โดยมีดอกเบี้ยอิงกับ SET 50 Index ธนาคารก็อาจเอาเงิน 2 ล้านบาทไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเอาผลตอบแทนสูง ๆ ให้ ผู้ฝากตามเงื่อนไข แต่ท่านผู้อ่านคงทราบดีว่า เงิน 2 ล้านบาทที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯอาจได้กำไรมาก หรืออาจขาดทุนจนสูญหมดทั้งจำนวนก็ได้ ในเมื่อธนาคารมีภาระต้องจ่ายเงินต้นคืนผู้ฝาก 10 ล้านบาท ส่วนผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งอาจเป็นศูนย์บาทก็ได้ (เป็นเงื่อนไขที่ธนาคารต้องอธิบายความเสี่ยงให้ผู้ฝากเข้าใจ)

ดังนั้น ธนาคารต้องนำเงินส่วนที่เหลืออีก 8 ล้านบาทไปลงทุนอะไรก็ได้ที่จะไม่มีความเสี่ยง โดยอาจลงทุนในรูป Zero Coupon Bond ระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้เงิน 8 ล้านบาทนี้งอกเงยเป็น 10 ล้านบาท เมื่อ Structured Deposit ครบกำหนด 3 ปี ซึ่งเมื่อครบกำหนดดังกล่าว ธนาคารก็สามารถนำเงิน 10 ล้านบาทที่เป็นผลได้จากการลงทุนใน Zero Coupon Bond บวกผลตอบแทนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมจ่ายคืนให้ผู้ฝาก ด้วยเหตุนี้แม้ว่า ผลตอบแทนจากตลาดหลักทรัพย์ฯขาดทุนจนเสียหายทั้ง 2 ล้านบาท ธนาคารก็สามารถจ่ายคืนเงินต้นให้ผู้ฝากได้ 10 ล้านบาท

Structured Deposit มีหลายรูปแบบ ผลตอบแทนอาจอ้างอิงกับดัชนีทางการเงินอื่น ๆ เช่น ดัชนีสินค้าเกษตรล่วงหน้า ดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นต้น หลักการก็คล้าย ๆ กับที่ผมได้เรียนข้างต้น คือผู้ฝากได้รับเงินต้นคืนเต็มจำนวน ส่วนดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนอาจสูงหรือต่ำมาก ซึ่งเป็นความเสี่ยงของผู้ฝาก ที่ต้องทราบก่อนการลงทุนโดยเป็นหน้าที่ของธนาคารต้องอธิบายให้เข้าใจอย่าง แท้จริง

ลงทุนในตราสารที่กล่าวมาตั้งแต่ต้น ผมใช้คำว่า Structured Deposit เพราะต้องการเน้นถึงความเป็นเงินฝาก ธนาคารจะต้องจ่ายคืนเงินต้นเต็มจำนวน (Principle Protected) แต่หากผู้ฝากอยากรับความเสี่ยงมากขึ้น เพื่อจะได้ผลตอบแทนสูงขึ้น ธนาคารก็อาจเสนอตราสารที่เงินต้นไม่ได้รับรองว่าจะได้จ่ายคืนเต็มจำนวน ในกรณีนี้ ภายใต้เงื่อนไขประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับใหม่ หลังจากพระราชบัญญัติสถาบันการเงินมีผลใช้บังคับ 3 สิงหาคม 2551 ตราสารพวกนี้ต้องใช้คำว่า Structured Notes ซึ่งอัตราส่วนการนำเงินไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนสูง ๆ อาจไม่ใช่ 20% ดังตัวอย่างที่ผมได้กล่าวข้างต้น แต่อาจจะเป็น 30% ก็ได้ เป็นต้น เพื่อให้มีเม็ดเงินไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่มากขึ้น แต่ถ้าใช้คำว่า Deposit ต้องเป็น Principle Protected นะครับ

ท้ายสุดนี้ ผมจะขอขยายประเด็นของ Principle Protected ที่กล่าวข้างต้นอีกสักเล็กน้อย ในที่นี้คือการ Protect โดยธนาคารที่รับเงินฝาก มิใช่โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เพราะหน้าที่ของสถาบันคุ้มครองเงินฝากคือการจ่ายคืนผู้ฝากกรณีที่ธนาคาร พาณิชย์ปิดตัวลง มิใช่จากการลงทุนของธนาคารที่ผิดพลาดจนเงินต้นหดหายไป ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของธนาคารเอง คนละประเด็นนะครับ

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่ามีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ที่เตรียมเรซูเม่ที่หาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของตนโดยการสำรวจด้วยคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด