กฎหมายแรงงานที่ผู้ประกอบการมือใหม่ควรรู้

กฎหมายแรงงานที่ผู้ประกอบการมือใหม่ควรรู้
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share
ปัจจุบันมี ผู้ประกอบการ หน้าใหม่หลายต่อหลายธุรกิจเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งนอกเหนือจากเทคนิคในการบริหารธุรกิจแล้ว สิ่งที่เหล่า ผู้ประกอบการมือใหม่ควรรู้ และจะละเลยไม่ได้เลยคือ กฎหมายแรงงาน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่บรรดาเจ้าของกิจการหน้าใหม่ต้องใส่ใจดังนี้ค่ะ

1. การทำสัญญาการจ้างงาน

สัญญาการจ้างงาน ตาม กฎหมายแรงงาน คือ สัญญาการตกลงว่าจ้างงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งการตกลงด้วยวาจาหากทั้งสองฝ่ายยอมรับแล้วก็ถือเป็นสัญญาจ้างงานแล้ว และเมื่อลูกจ้างลงมือทำงานให้นายจ้างแล้วก็ถือว่าสัญญาเป็นอันสมบูรณ์ แต่เพื่อป้องกันข้อยุ่งยากในภายหลังนายจ้างควรจะทำเป็นหนังสือสัญญาจ้างงาน ซึ่งระบุถึงรายละเอียดการทำงาน กฏระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ในขณะปฏิบัติงาน ซึ่งจะต้องไม่ขัดกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานมิเช่นนั้นจะถือว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ โดยสัญญาจ้างงานนั้นจะมีผลตลอดอายุการทำงานของลูกจ้าง ยกเว้นกรณีที่เป็นสัญญาจ้างชั่วคราวที่ระบุระยะเวลาทำงานที่แน่นอน จะมีผลสิ้นสุดตามระยะเวลาที่ระบุไว้

2. การกำหนดระยะเวลาการทำงาน และการพักผ่อนระหว่างงานของลูกจ้าง

  • ตาม กฏหมายแรงงาน กำหนดเอาไว้ว่างานด้านพาณิชกรรม หรืองานอื่น ๆ ทั่วไประยะเวลาในการทำงานวันละไม่เกิน 9 ชั่วโมง แต่สัปดาห์หนึ่งไม่เกิน 48 ชั่วโมง
  • งานด้านอุตสาหกรรมไม่เกินสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง
  • งานขนส่งไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง
  • งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายตามที่กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดไว้ ต้องไม่เกินสัปดาห์ละ 42 ชั่วโมง
  • ลูกจ้างต้องมีเวลาพักอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ภายหลังจากที่เริ่มทำงานไปแล้วไม่เกิน 5 ชั่วโมง

3. การกำหนดวันหยุด และค่าทำงานในวันหยุด

  • ใน 1 สัปดาห์ต้องมีวันหยุดอย่างน้อย 1 วัน โดยวันหยุดต้องห่างกันไม่เกิน 6 วัน
  • ใน 1 ปีลูกจ้างมีสิทธิหยุดตามประเพณีไม่น้อยกว่า 13 วัน
  • ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันเป็นระยะเวลา 1 ปีมีสิทธิลาพักร้อนได้อย่างน้อย 6 วัน

4. การทำงานล่วงเวลา และค่าทำงานล่วงเวลา

  • ค่าล่วงเวลา : ลูกจ้างที่ทำงานในช่วงเวลาทำงานในวันจันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 17.30 / 18.00 น. (เวลาหลังเลิกงานที่แต่ละบริษัทกำหนด) เป็นต้นไป จะได้รับค่าจ้างจำนวน 1.5 เท่าของค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง
  • ค่าทำงานในวันหยุด : ลูกจ้างที่ทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ 0-8 ชั่วโมงแรก (ไม่รวมเวลาพัก 1 ชั่วโมง) จะได้รับค่าจ้างจำนวน 1 เท่าของค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง
  • ค่าล่วงเวลาในวันหยุด : ลูกจ้างที่ทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่ชั่วโมงที่ 9 เป็นต้นไป (ไม่รวมเวลาพัก 1 ชั่วโมง) จะได้รับค่าจ้างจำนวน 3 เท่าของค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง

5.กำหนด หลักการลาของลูกจ้าง

  • ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้ ไม่เกิน 30 วัน โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ และหากการลาป่วยนั้นเกินกว่า 3 วันนายจ้างมีสิทธิขอดูใบรับรองแพทย์จากลูกจ้าง หากลูกจ้างไม่สามารถแสดงใบรับรองแพทย์ได้ ลูกจ้างสามารถแจ้งเป็นกรณีไป
  • ลูกจ้างที่ตั้งครรภ์สามารถลาคลอดได้ไม่เกิน 90 วัน โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ 45 วันและจากรับจากประกันสังคมอีก 45 วัน หากลูกจ้างมาทำงานก่อนกำหนดลาคลอด 90 วันในวันที่มาทำงานนั้นให้จ่ายค่าจ้างตามจำนวนวันที่มาทำงาน
  • ลูกจ้างมีสิทธิทำหมันและหยุดทำงานได้ตามคำวินิจฉัยของแพทย์ โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ
  • ลูกจ้างสามารถลากิจ เพื่อกิจธุระอันจำเป็น โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ
  • ลูกจ้างที่แจ้งลาเพื่อรับราชการทหาร ไม่เกินปีละ 60 วัน โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ
  • ลูกจ้างที่แจ้งลาเพื่อฝึกอบรม สามารถทำได้ โดยการจ่ายค่าจ้างจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด

6. สิทธิในการได้รับการคุ้มครองแรงงาน

เป็นสิทธิพื้นฐานที่กระทรวงแรงงานระบุไว้เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างตามกฏหมาย หากนายจ้างทำละเมิดสัญญาจ้างงานหรือขัดกับกฏหมาย รัฐาสามารถแทรกแซงเอกชนเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ลูกจ้างได้ ซึ่งเป็นการกำหนดอัตราการจ้างงานขั้นต่ำ ซึ่งในแต่ละพื้นที่นั้นมีอัตราการจ้างงานขั้นต่ำที่แตกต่างกันไป สิ่งที่นายจ้างต้องทราบคือ นายจ้างไม่สามารถจ่ายค่าจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดไว้ได้โดยเด็ดขาด ยกเว้น ลูกจ้างอยู่ในช่วงทดลองงาน แต่ต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงอัตราค่าจ้างในระหว่างทดลองนี้เป็นลายลักษณ์อักษรด้วย

7. การจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้าง

กฎหมายแรงงานระบุถึงกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วย ถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย เนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง นายจ้างจำเป็นต้องจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างตามนี้

  • กรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นไม่เกิน 50,000 บาท และถ้าในกรณีที่ลูกจ้างเป็นผู้ป่วยใน มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาลและค่าบริการทั่วไป ให้นายจ้างจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าว เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินวันละ 1,300 บาท
  • กรณีทุพพลภาพเนื่องจากการทำงาน ลูกจ้างจะได้รับค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทนจำนวน 60% ของค่าจ้างรายเดือน ในกรณีไม่สามารถทำงานได้เกิน 3 วัน และค่าทดแทน 60% ของค่าจ้างรายเดือน  กรณีทุพพลภาพเป็นเวลาไม่เกิน 15 ปี  และหากจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ  จะได้รับค่าฟื้นฟูสมรรถภาพด้วย
  • กรณีตายหรือสูญหายจากการทำงาน เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 120 วันนับแต่วันที่เกิดเหตุ สิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับ คือ ค่าทำศพ จำนวน 100 เท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน ค่าทดแทนของค่าจ้างรายเดือนในอัตรา 60% ของค่าจ้างรายเดือน มีกำหนด 8 ปี (จ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด)

ทั้งหมดนี้ถือเป็น กฎหมายแรงงาน น่ารู้ขั้นพื้นฐาน ที่ผู้ประกอบการหน้าใหม่ต้องใส่ใจจะละเลยไม่ได้ ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการทำตามกฎระเบียบตามที่กฎหมายกำหนด และส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นหลักประกันให้ลูกจ้างทำงานได้อย่างมีความสุขเพราะมีหลักประกันว่านายจ้างทำถูกกฎหมายเรียกได้ว่าสบายใจกันทั้งสองฝ่ายทั้งตัวนายจ้างเองและตัวลูกจ้างเองด้วย

⚡ ค้นหาคนที่ใช่ด้วยโซลูชันการสรรหาบุคลากรแบบครบวงจรกับ JobsDB ⚡

★ เข้าถึงโปรไฟล์ผู้สมัครงานคุณภาพมากกว่า 2.6 ล้านคนในประเทศไทย

★ ผู้สมัครงานพบงานที่ใช่มากขึ้น 6 เท่า ผู้ประกอบการได้ใบสมัครตรงใจมากขึ้น

★ ที่เว็บไซต์หางานอันดับ 1 ครองใจผู้สมัครงานคุณภาพ ลงทะเบียนเพื่อสรรหาผู้สมัครงาน ที่นี่

10 ขั้นตอนสรรหาผู้สมัครงานอย่างเป็นระบบ