ในยุคข้าวยากหมากแพง ข้าวสารก็แพง น้ำมันก็แพง ของกินของใช้ต่างๆ ก็พากันตบเท้าขึ้นราคา ทำเอารายจ่ายตีตื้นขึ้นมาจนเกือบจะแซงหน้ารายรับอยู่แล้ว
จะว่าไปการที่ข้าวสารแพงก็พอมีข้อดีอยู่บ้าง คือ ทำให้ชาวนาได้ลืมตาอ้าปาก ขายข้าวได้ราคาดีอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และการที่ข้าวแพงก็ทำให้คนเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค จากที่เคยกินทิ้งกันขว้าง ก็รู้จักคุณค่าของข้าวทุกเม็ดมากขึ้น
แต่การที่ข้าวของพากันขึ้นราคาอย่างนี้ ก็ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อเดือนเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว บางครอบครัวเกิดอาการชักหน้าไม่ถึงหลัง กว่าจะผ่านไปได้เดือนๆ หนึ่งก็แทบแย่ แล้วจะมีเงินเหลือสำหรับเก็บออมได้อย่างไร
คำตอบคือ…ถ้าจะออมก็ต้องมีวินัยในการใช้จ่ายเงิน ต้องรู้ตัวว่าในแต่ละเดือน เรามีรายรับเท่าไร จากที่ใดบ้าง และมีรายจ่ายเท่าไหร่ อะไรบ้าง ซึ่งสามารถทำได้โดยการจดบัญชีรายรับและรายจ่ายเป็นประจำ
ในส่วนของรายรับเริ่มจากการจดรายการรายได้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน รายได้พิเศษ ดอกเบี้ย เงินปันผล หรือผลตอบแทนการลงทุน ค่าเช่าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงรายได้อื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ซึ่งควรจะเป็นรายได้สุทธิที่หักภาษีเรียบร้อยแล้ว บางคนที่มีโบนัสอาจจะแยกเงินโบนัสออกมา หรือคำนวณเฉลี่ยออกมาเป็นรายเดือน แล้วนำไปรวมเป็นรายได้ต่อเดือนก็ได้
ในส่วนของรายจ่ายสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มหลักๆ 5 กลุ่ม ดังนี้
ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน โดยมากได้แก่ ปัจจัยสี่ เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ค่าสาธารณูปโภคหลักๆ ได้แก่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง หรือค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา
- ค่าใช้จ่ายในการผ่อนชำระสินค้า ได้แก่ ค่าบัตรเครดิต ค่าผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ผ่อนข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เหล่านี้ล้วนต้องมีวินัยในการผ่อนชำระทั้งสิ้น หากค้างชำระจะจะถูกปรับในอัตราสูงลิบลิ่วทีเดียวเชียว
- ค่าใช้จ่ายในการประกันภัย ได้แก่ ค่าเบี้ยประกันชีวิต ค่าเบี้ยประกันรถยนต์ ค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยและอื่นๆ
- ค่าใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉิน ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล
- ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่นอกเหนือจากความจำเป็น เช่น ค่าใช้จ่ายเพื่อการบันเทิง นันทนาการ การท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น
เมื่อเราจดรายจ่ายออกมาทั้งหมดแล้ว เราจะรู้ว่าในแต่ละเดือนเราใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นเท่าไร และไม่จำเป็นเท่าไร หากรายจ่ายมากกว่ารายได้สุทธิ หมายถึง คุณมีการออมที่ติดลบ ต้องหยิบยืมเงินคนอื่น หรือต้องนำเงินสำรองมาใช้ ในกรณีนี้คุณจะได้หาทางปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปเสียบ้าง เพื่อสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น จะได้มีเงินเหลือสำหรับเก็บออมในยุคข้าวยากหมากแพงเช่นนี้