ในบรรดาทักษะที่มักถูกเขียนลงไปในเรซูเม่มากที่สุดทักษะหนึ่งคงหนีไม่พ้นทักษะ Multitasking หรือ ความสามารถในการทำงานหลาย ๆ อย่างได้พร้อมกัน ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งทักษะที่หลายองค์กรมองหา โดยเฉพาะในบริษัทขนาดไม่ใหญ่มาก SME หรือ Startup ที่เพิ่งเริ่มกิจการ ล้วนแต่มีความจำเป็นที่ต้องมีพนักงานที่ทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อมกันได้ แต่นิยามความหมายของคำนี้เองก็มีความสับสนอยู่ไม่น้อย และที่สำคัญอาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกคนหากไม่รู้จักวิธีใช้ที่ถูกต้อง
Multitasking เป็นอย่างไร
ความหมายของ Multitasking แบบที่หลายคนเข้าใจจะหมายถึง การทำหลายสิ่งได้พร้อมกัน แต่ถ้าพูดให้ลึกลงไปกว่านั้น จะหมายถึง การทำงานด้วยทักษะ ความสามารถที่หลากหลาย เช่น พนักงานหนึ่งคนอาจรับหน้าที่ทำงานหลายตำแหน่ง ทั้งเป็น Sales ขายงาน คิด Marketing หาวิธีขายสินค้า ไปดูการผลิตด้วย นี่ก็จัดว่าเป็นการทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อมกันที่ไม่จำเป็นต้องทำงานหลาย ๆ ในเวลาเดียวกัน เพราะในปัจจุบันมีอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ช่วยให้เราสามารถทำงานหลายอย่างได้มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นทิศทางเทรนด์ของโลกก็กำลังนิยมให้คนคนหนึ่งสามารถทำงานหลายหน้าที่ได้ในคนเดียว เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพสูงสุดในขณะที่ใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด
ข้อดีของการทำงานหลายตำแหน่งในคนเดียว – ประหยัดเงิน ประหยัดเวลา พนักงานเก่งเร็ว
การทำงานหลายตำแหน่งในคนเดียว ช่วยให้บริษัทสามารถประหยัดค่าจ้างที่จะต้องจ่าย คือ สามารถจ้างคนคนเดียวให้รับผิดชอบ 3 ตำแหน่ง แทนที่จะต้องจ้างคน 3 คนเพื่อมาทำงานแต่ละตำแหน่ง ในขณะที่ตัวพนักงานเองก็ได้ประโยชน์ในแง่ที่ว่าได้รับเงินเดือนมากกว่าการทำงานตำแหน่งเดียวโดด ๆ รวมไปถึงทำให้ประหยัดเวลา ทำให้ทำงานได้เร็วขึ้น ลดขั้นตอนและเวลาในการส่งผ่านงานไปสู่คนอีกคนหนึ่ง ลดเวลาในการตัดสินใจ
เรียกได้ว่าเป็นการลดตัวแปรที่เกิดจากคนหลายคน สามารถทำงานให้เสร็จตามกำหนดได้ และการทำงานแบบนี้จะช่วยให้พนักงานมีประสบการณ์มากขึ้นและเก่งขึ้นในระยะเวลาอันสั้น
ข้อเสียของการทำงานหลายตำแหน่งในคนเดียว – งานล้มง่าย ๆ หากไม่รู้จักจัดลำดับความสำคัญ
จริงอยู่ที่ว่าการทำงานแบบนี้มีข้อดีไม่น้อย แต่หากใช้ผิดวิธีก็อาจจะทำให้ส่งผลเสียกันทั้งงาน ตัวบริษัท และพนักงานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่รู้จักการจัดลำดับความสำคัญของงาน เพราะการทำงานหนักจนเกินไป หรือทำงานหลายอย่างหรือรับผิดชอบหลายหน้าที่พร้อมกันอาจทำให้ขาดสมาธิได้ง่าย
พอไม่มีโฟกัสกับงานแล้วก็จะทำให้งานออกมาไม่ดี หรืออาจลุกลามไปถึงทำงานไม่เสร็จสักอย่าง ส่งงานไม่ทัน จนมีผลกระทบต่อผลกำไรของบริษัท นอกจากนี้ยังทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย และถ้าหากพนักงานไม่ได้มีทักษะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ดีก็เสี่ยงที่จะทำให้งานพังได้ง่าย ๆ
ในขณะที่หลายตำแหน่งก็เป็นตำแหน่งที่ต้องใช้เวลาและสมาธิสูงเพื่อที่จะทำงาน เช่น โปรแกรมเมอร์ สถาปนิก นักออกแบบ นักเขียน หากจ้างพนักงานเพื่อให้มาทำงานแบบนี้แล้ว ก็จะมีผลโดยตรงต่อผลงานที่จะออกมา
ทำอย่างไรให้มีสกิลการทำงานหลายตำแหน่งในคนเดียวที่ดี ?
จัดลำดับความสำคัญ
รู้จักจัดลำดับความสำคัญของงาน แล้ววางตารางงานให้ชัดเจน วางแผนว่างานไหนควรทำก่อนทำหลัง แต่ละงานควรใช้เวลาทำเท่าไหร่
รู้ว่าเมื่อไหร่ควรทำงานหลายตำแหน่งในคนเดียว
ไม่จำเป็นต้องทำงานหลายตำแหน่งด้วยตัวเราคนเดียวตลอดเวลา เพราะหลาย ๆ งานก็ต้องการการโฟกัสสูง หรือบางงานก็สามารถทำงานแบบนี้ได้ จะได้ประหยัดเวลาแล้วเอาไปใช้ทำอย่างอื่น
โฟกัสสมองที่งานนั้น ๆ
แม้จะต้องรับหน้าที่ดูแลหลายตำแหน่ง แต่ทุกครั้งที่สลับไปทำงานตามหน้าที่ต่าง ๆ ต้องปรับให้สมองโฟกัสกับงานที่กำลังทำอยู่ เพื่อให้งานออกมาดี เกิดข้อผิดพลาดให้ต้องกลับมาแก้ไขน้อยที่สุด
ปิดแจ้งเตือน Social Media
Notification จาก Facebook, Twitter, Instagram และ แอปแชทอื่น ๆ เป็นตัวการชั้นดีที่จะทำให้คุณเสียสมาธิจากการทำงาน และยังทำให้เสียเวลาด้วย หากไม่จำเป็นต้องใช้ในงานก็ปิดแจ้งเตือนสิ่งเร้าเหล่านี้ไปซะ
To do list
ทำ To do list ขึ้นมาเพื่อช่วยจัดการงานของคุณ กำหนดเป้าหมายในแต่ละวันว่าต้องทำงานไหนให้เสร็จบ้าง หรือจะใส่กำหนดเวลาที่ควรทำงาน task นี้ให้เสร็จก็ได้ จะให้คุณเห็นภาพแผนการทำงานชัดเจนขึ้น
ตารางงานที่เปลี่ยนแปลงได้
หลายครั้งอาจมีตัวแปรอื่น ๆ ที่เข้ามาทำให้แผนการทำงานที่วางไว้คลาดเคลื่อน อาจมีงานเร่งเข้ามาให้คุณต้องทำก่อน ก็สามารถพิจารณาเลื่อนงาน ปรับเปลี่ยนแผนการทำงานเดิมได้ตามความเหมาะสมได้เลย
กระจายงานให้คนอื่นทำบ้าง
แม้คุณจะรับหน้าที่ดูแลหลายตำแหน่งในคนเดียว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องรับหน้าที่ทั้งหมดในบริษัท คุณสามารถกระจายงานให้คนอื่นในทีมได้ทำบ้าง หรือถ้าดูแล้วงานนี้เป็นหน้าที่ของคนตำแหน่งอื่นหรือคนอื่นมีความสามารถที่จะทำงานนั้นได้ดีกว่าคุณ ก็สามารถขอความช่วยเหลือหรือแบ่งงานให้เขาทำได้เลย
หาเวลาพัก
การทำงานแบบนี้อาจจะทำให้คุณเครียดจากหน้าที่ความรับผิดชอบในงานที่หลากหลาย ซึ่งหากปล่อยไว้นาน ๆ ก็อาจเกิดอาการสมองล้า ร่างการอ่อนเพลียได้ คุณจึงควรหาเวลาพักผ่อนคลายจากการทำงาน อาจจะเบรค 15 นาทีระหว่างเดินไปเข้าห้องน้ำ หรือดื่มกาแฟ หรือไม่ก็แบ่งเวลาพักผ่อนหลังเลิกงาน 1 ชั่วโมงก่อนนอนไปทำกิจกรรมที่ชอบหรือทำให้คุณผ่อนคลาย ก็จะช่วยให้สมองและร่างกายของคุณได้พัก และมีแรงทำงานต่อได้ในวันถัดไป
ทีนี้คุณก็ได้รู้ข้อดี ข้อเสีย และการทำงานแบบ Multitasking กันแล้ว ลองประเมินตัวเองและงานของคุณว่าเหมาะที่จะต้องใช้วิธีการทำงานแบบ Multitasking หรือไม่ คุณเองชอบวิธีการทำงานแบบนี้หรือเปล่า ถ้าใช่และอยากทำงานแบบ Multitasking ให้มีประสิทธิภาพก็ลองเอาคำแนะนำของเราไปใช้พัฒนาตัวคุณเองดู เพื่อให้คุณเป็นพนักงานที่มีทักษะการทำงานหลายตำแหน่งในคนเดียวที่ดี สร้างผลงานที่มีคุณภาพสูง ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจนบริษัทไหน ๆ ก็อยากได้ตัวไปร่วมงานด้วย
ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android
เลือกงานที่ใช่ ใช้ชีวิตที่ชอบ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า
เปลี่ยน work hard เป็น work smart ด้วย Systematic Thinking อัปสกิลคิดอย่างเป็นระบบ
Cheer up ทีมให้ฮึกเหิม ด้วย 10 ขั้นตอนปลุกเสือให้ตื่น
เทคนิคการ Motivate ตัวเอง ให้พร้อมลุยงานทุกสถานการณ์
ดูดวงการงาน 2565 เช็กดวงให้พร้อม พร้อมเข้าสู่ปีใหม่อย่างมั่นใจ
เลิกทำงานแบบ Multitasking จนสับสน ด้วยเทคนิคจัดตารางชีวิตแบบ Task Batching