ภาษีธุรกิจเฉพาะ มีกรณีใดบ้างที่ไม่ต้องจ่าย

ภาษีธุรกิจเฉพาะ มีกรณีใดบ้างที่ไม่ต้องจ่าย
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีตามประมวลรัษฎากรประเภทหนึ่ง จัดเก็บจากการประกอบกิจการเฉพาะอย่างแทนภาษีการค้าที่ถูกยกเลิก ภาษีธุรกิจเฉพาะเริ่มใช้บังคับใน พ.ศ.2535 พร้อมกันกับภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่มีบางกรณีที่ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

    1. การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินโดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่วัด (ตามมาตรา 5 บัณรส แห่งพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 10)
    2. การโอนอสังหาริมทรัพย์อันเนื่องมาจากที่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัด ควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน (ตามมาตรา 5 โสฬส แห่งพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 10)
    3. การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นโรงงานพร้อมที่ดินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเพื่อย้ายสถานประกอบการ เข้าไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมฯ (ตามมาตรา 5 เอกวีสติ แห่งพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 10)
    4. รายรับของสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 291)
    5. ค่าทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับ จากส่วนราชการฯ (ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 295)
    6. การโอนทรัพย์สิน การขายสินค้าหรือการให้บริการอันเนื่องมาจากการดำเนินการตามคำขอประนอมหนี้ หรือแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ (ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 340)
    7. การขายอสังหาริมทรัพย์เฉพาะที่ต้องจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (ตามมาตรา 4(6)(ก) ถึง (ช) แห่งพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 342)
    8. การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะ ให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ (ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 378)
    9. รายรับเฉพาะที่เป็นกำไรก่อนหักรายจ่ายใด ๆ จากการซื้อหรือขายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ใด ๆ (ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 388)
    10. ผู้ขายหลักทรัพย์ในกิจการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืน (ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 392 )
    11. การโอนทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการดำเนินการสนับสนุนการศึกษา ตามโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ (ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 420)
    12. การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชน (ตามมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 427)
    13. การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่สภากาชาดไทย (ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 447)
    14. รายรับจากการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ เฉพาะส่วนที่เป็นรายรับตามมาตรา 91/5(1) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ธนาคารพาณิชย์ได้รับ (ตามมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 454)

หมายเหตุ

ไม่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ กรมสรรพากรวางแนวทางปฏิบัติ ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.26/2534 กำหนดให้รายรับกรณีดอกเบี้ยสำหรับกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ดังนี้

(1) กรณีบริษัทในเครือเดียวให้กู้ยืมเงินกันเอง ไม่ว่าจะนำเงินของตนหรือนำเงินที่กู้ยืมจากบุคคลอื่นมาให้กู้ยืมในระหว่างกันเอง และไม่ว่าจะคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใดก็ตาม ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืมเงินในกรณีเช่นนี้ ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

คำว่า "บริษัทในเครือเดียวกัน" หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตั้งแต่สอง นิติบุคคลขึ้นไปซึ่งมีความสัมพันธ์กัน โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนอยู่ในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอีกแห่งหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนก่อนวันที่มีการกู้ยืม

(2) กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำเงินทุน เงินกู้ยืม เงินเพิ่มทุน หรือเงินอื่นที่เหลืออยู่ไปฝากธนาคารหรือซื้อตั๋วเงินของสถาบันการเงินอื่น โดยได้รับดอกเบี้ยตามอัตราปกติกรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าดอกเบี้ยนั้นเป็นรายรับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แม้ว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ก็ตาม

ความใน (1) และ (2) ไม่รวมถึงการประกอบกิจการธนาคาร กิจการธุรกิจเงินทุนธุรกิจ หลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และการรับประกันชีวิต ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต

(3) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีระเบียบเกี่ยวกับเงินกองทุนสะสมพนักงาน หรือทุนอื่นใดเพื่อพนักงาน และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้นำเงินกองทุนนี้ออกให้พนักงานที่เป็นสมาชิกกู้ยืมเป็นสวัสดิการ โดยคิดดอกเบี้ยสำหรับเงินที่ให้กู้นั้นตามสมควร ไม่ต้องนำดอกเบี้ยนั้นมารวมคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่ามีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ที่เตรียมเรซูเม่ที่หาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของตนโดยการสำรวจด้วยคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด