บริหารเงินเดือนอย่างไร ให้มีเงินเก็บ และเหลือใช้

บริหารเงินเดือนอย่างไร ให้มีเงินเก็บ และเหลือใช้
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

“เงินเดือนยิ่งเยอะ เงินเก็บยิ่งน้อย” คนทำงานหลายคนมีอาการอย่างนี้ ไม่ว่าจะได้ เงินเดือน ขึ้น หรือได้โบนัสเพิ่มเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ก็ตาม เงินที่จะนำมาเป็นค่าใช้จ่าย ก็ยิ่งน้อยลงไปทุกที อย่าถามหาเงินเก็บเลย เงินที่จะนำมาใช้ให้เพียงพอแต่ละเดือน ก็แทบจะไม่มี ทำให้ดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นวัฎจักรของ มนุษย์เงินเดือน คือ ยิ่งมีเงินเดือนสูง ก็ยิ่งไม่มีเงินใช้

แม้ว่าคนทำงานหลายคนจะขึ้นชื่อว่าไม่มีวินัยทางการเงิน หรือใช้เงินเดือนอย่างไม่มีระบบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนทำงานจะเป็นเช่นนี้ทุกคน โดยเฉพาะคนที่สามารถจัดการการเงินได้ดี ก็จะไม่มีปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่ต้องทำอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าเป็นคนทำงานที่มีเงินเก็บ และสามารถบริหารจัดการเงินเดือนได้อย่างไม่มีปัญหา

เงินเดือนน้อยอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะปัญหาโดยส่วนใหญ่มาจากคนที่มีเงินเดือนมาก แต่ไม่มีเงินเหลือเก็บ พอสิ้นเดือนมาถึง ก็ต้องนึกถึงคำว่า “สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ” เพราะนั่นคือสัจธรรมที่เห็นได้เด่นชัดมาก เงินเดือนไม่ได้เป็นเงินเก็บ แต่เป็นเงินที่เอาไว้จ่ายหนี้สิน ไม่ว่าจะเป็นค่าบัตรเครดิต หรือค่างวดต่าง ๆ อีกมากมาย แล้วแต่ว่าจะมีกันคนละกี่อย่าง

ทำอย่างไรจึงจะทำให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ห่างไกลจากการเป็นหนี้ และมีเงินเหลือใช้ เคล็ดลับการบริหารเงินเดือนเหล่านี้ แม้ว่าจะฟังดูแล้วรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่ต้องมีสักข้อที่เราสามารถนำมาใช้ได้จริง และทำให้การบริหารการเงินของเราเป็นเรื่องง่าย

วางแผนก่อนแล้วค่อยใช้เงิน

เมื่อเงินเดือนออก หลายคนเลือกที่จะเอาเงินไปใช้จ่ายส่วนตัวก่อน ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายหนี้สิน ซื้อของที่อยากได้ ทานอาหารในร้านหรูหราราคาแพง โดยลืมไปว่าต้องแบ่งเงินเดือนส่วนหนึ่งไว้ เพื่อจะได้นำมาเป็นเงินเก็บหรือเงินสะสมในแต่ละเดือน บางคนใช้เงินจนเกินตัว หรือคิดแต่เพียงว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวเดือนหน้าค่อยเริ่มเก็บใหม่ก็ได้ พอถึงเดือนหน้าเข้าจริง ๆ ก็ไม่ได้เก็บเงินอีก จนท้ายที่สุดความควาดหวังที่จะมีเงินเก็บ ก็เป็นเพียงความฝัน

เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการบริหารจัดการเงินเดือนของตัวเอง เมื่อได้เงินเดือนมาใหม่ ๆ ให้แบ่งเงินเก็บไว้ส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นอัตราส่วน 10% หรือหากมีเงินมากก็ออมมาก แล้วแต่ว่าจะอยากเก็บเงินแค่ไหน แต่ขอให้ได้เก็บ เพราะหากเราไม่เริ่มต้นเลย เราก็จะไม่มีเงินเก็บเสียที จากนั้นเมื่อมีเงินส่วนที่เหลือค่อยนำมาใช้จ่าย


การวางแผนการใช้เงิน ที่ดี จะช่วยให้เราไม่ต้องมานั่งเสียใจภายหลัง การมีเงินเหลือใช้จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันได้เป็นอย่างดี เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าความจำเป็นที่เราจะต้องใช้เงินจะเกิดขึ้นเมื่อไรบ้าง การมีเงินเก็บไว้ในมือจะทำให้เราไม่ต้องเดือดร้อนในภายหลัง อย่างน้อยที่สุดเราควรมีเงินสำรองไว้อย่างน้อย 6 เดือน เป็นการเตรียมเผื่อไว้ในกรณีที่เราอาจจะต้องออกจากงาน บางคนมีเงินช่วยเหลือที่มาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งก็จะช่วยให้เราสามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายได้ในช่วงที่เรากำลังหางานใหม่นั่นเอง

มีหนี้ให้น้อยที่สุด

นอกจากการจะไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐแล้ว การไม่มีหนี้ก็ถือเป็นความโชคดีอย่างหนึ่ง คนทำงานที่มีหนี้สินจำนวนมากมาย จะไม่สามารถวางแผนการเงินได้ดีเท่าที่ควร เพราะเมื่อมีหนี้สิน เราก็ต้องคิดไว้แล้วว่าเมื่อเงินเดือนออก จะเอาเงินไปจ่ายหนี้เท่าไร ยิ่งมีหนี้มากก็ต้องใช้จ่ายเงินมาก จนเงินที่จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายก็จะมีน้อยตามไปด้วย

บริหารเงินเดือน แม้ว่าจะฟังดูแล้วเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะเป็นคนที่ปลอดหนี้ แต่สิ่งเหล่านี้สามารถจัดการได้ แต่ทั้งหมดทั้งมวลต้องเริ่มต้นจากตัวเราเองก่อน บอกตัวเองให้รู้จักยับยั้งชั่งใจ ไม่ให้อยากได้อะไรก็ตาม หากเรายังไม่มีความพร้อมมากพอ บอกตัวเองให้หยุดเป็นหนี้ด้วยการหยุดใช้บัตรเครดิตและสินเชื่อทั้งหลาย ไม่เอาเงินในอนาคตมาใช้ เพราะสุดท้ายแล้ว เราก็ต้องมารับใช้หนี้นั้นอยู่ดี ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

หากอยากเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีเงินเก็บ และมีเงินเหลือใช้เมื่อเงินเดือนออก เราต้องรู้จักวางแผนการเงิน ไม่ใช่ว่าพอเงินเดือนออก แล้วเงินก็ไปอยู่กับค่าใช้จ่ายหรือหนี้สินทันที แม้ว่าจะฟังดูเป็นเรื่องยาก แต่เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง เพียงแต่เราต้องมีวินัยในตัวเอง บอกตัวเองให้เป็นนักบริหารการเงินที่มีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะได้ไม่มีปัญหาการเงินในอนาคตต่อไป


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

5 บ่วงอันตราย ของคนทำงานมือใหม่

วิธีออมเงินอย่างมนุษย์เงินเดือนมืออาชีพ

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่ามีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ที่เตรียมเรซูเม่ที่หาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของตนโดยการสำรวจด้วยคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด